เคล็ดลับการเลือกโบรกเกอร์และมาร์เก็ตติ้งคู่ใจ !!

มีนักลงทุนมือใหม่หลายคนเข้ามาถามกันอย่างล้นหลามว่า โบรกเกอร์คืออะไร เป็นบุคคลหรือเปล่า เป็นบริษัท เป็นหุ้น เป็นธนาคาร หรืออื่น ๆ อีกมากมาย วันนี้จึงขอมาขยายความเรื่องโบรกเกอร์รวมทั้งเทคนิคในการเลือกโบรกเกอร์ให้กระจ่างกันค่ะ ^^

     บริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ (Broker) คือ บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ได้


โดยมีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่เปิดบัญชี จนกระทั่งถึงขั้นตอนสิ้นสุดของการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ รวมทั้งช่วยดูแลให้คำปรึกษาแนะนำ หรือแก้ไขปัญหาให้กับคุณด้วย ซึ่งโดยรวม โบรกเกอร์จึงเป็นคนดูแลเรื่องเงินๆ ทองๆ ของผู้ลงทุน นั่นเองค่ะ

คำถามต่อมา โบรกเกอร์มีตั้งเยอะแยะ แล้วเราจะเลือกโบรกเกอร์ไหนดีล่ะ?

คุณสมบัติของโบรกเกอร์ที่ดี หลัก ๆ มีดังนี้ค่ะ

      1. เป็นที่ปรึกษาใจดี

แนะนำเราให้รู้จักก้าวเดินทีละก้าว ตั้งแต่พื้นฐานเรื่อยไปจนถึงเทคนิคที่สูงขึ้นๆ จนกว่าเราจะมีความชำนาญในเรื่องการลงทุน ดังนั้น ในฐานะผู้ลงทุน ไม่ต้องเกรงใจหรือเคอะเขินต่อการตั้งคำถามใดๆ ที่เราไม่รู้หรืออยากรู้

      2. ให้บริการข้อมูลและข่าวสาร

โบรกเกอร์จะต้องมีความพร้อมในด้านข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและถูกต้องสามารถบอกถึงความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา ให้เราทราบเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้

3. ตอบสนองความต้องการซื้อขายของเราได้รวดเร็วและถูกต้อง
การปฏิบัติตามคำสั่งซื้อขายของลูกค้าได้ถูกต้อง รวดเร็ว ย่อมเป็นที่พึงพอใจของลูกค้า และยังมีส่วนทำให้การซื้อขายเพิ่มปริมาณมากขึ้นด้วย เราจึงควรเลือกโบรกเกอร์ที่มีเจ้าหน้าที่การตลาดมากเพียงพอ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับคำสั่งจากลูกค้าหลายรายจนเกินไป และมีโทรศัพท์มากเพียงพอในกรณีที่เราใช้วิธีซื้อขายทางโทรศัพท์

4. มีฐานะทางการเงินมั่นคงและน่าเชื่อถือ
โดยศึกษารายละเอียดดังกล่าวจากข้อมูลผู้ถือหุ้น
ประวัติความเป็นมา ผลการดำเนินงานในอดีต และชื่อเสียงของทีมบริหาร

5. สะดวกและทันสมัย
โบรกเกอร์ที่ดีควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอ เช่น หากเราเป็นผู้ลงทุนที่มาสั่งซื้อขาย ณ ห้องค้าหลักทรัพย์ด้วยตนเอง อย่างน้อยโบรกเกอร์นั้นควรที่จะต้องมีคอมพิวเตอร์ในปริมาณที่มากเพียงพอ หรือหากเราเป็นผู้ลงทุนที่มีมูลค่าการลงทุนสูงและต้องการความเป็นส่วนตัว โบรกเกอร์นั้นก็ควรมีห้องค้าหลักทรัพย์ส่วนตัว
(VIP Room) เพื่อรองรับ เป็นต้น

6. ระบบเอกสารและการบริการ
งานเอกสารนับว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเป็นเสมือนข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่าง ผู้ลงทุนกับโบรกเกอร์ ส่วนบริการหลังการซื้อขายในปัจจุบันโบรกเกอร์หลายแห่งเริ่มใช้ระบบการตัดและโอนบัญชีอัตโนมัติ ดังนั้น เอกสารต่างๆ จึงต้องรัดกุม ง่ายต่อความเข้าใจ ชัดเจน และตรวจสอบได้ตลอดเวลา

7. ทำเลที่ตั้ง
ข้อนี้มีความสำคัญมากสำหรับผู้ลงทุนที่นิยมซื้อขายในห้องค้าหลักทรัพย์ด้วยตนเอง โดยอาจต้องพิจารณาระยะเวลา การเดินทาง สถานที่จอดรถยนต์ ความสะดวก ปลอดภัย ค่าใช้จ่ายจิปาถะที่อาจต้องคำนึงถึงอื่นๆ เช่น ค่าที่จอดรถ
นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เป็นต้น
แล้วจะเลือกเจ้าหน้าที่การตลาด (Marketing / Investment Consultant) อย่างไรให้ได้ดั่งใจ !! ไปดูกันต่อเลยค่ะ


...หลังจากที่เราได้พิจารณาข้อมูลและตัดสินใจเลือกใช้บริการกับโบรกเกอร์ได้แล้วเรายังต้องพิจารณาตัวบุคคลที่ต้องติดต่ออีกด้วยซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่การตลาด ของโบรกเกอร์นั้นๆ โดยเจ้าหน้าที่ การตลาดจะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลบัญชีการลงทุนของเรา
ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุด บุคคลคนนี้จะเป็นผู้ให้ข้อมูล คำปรึกษา รับและส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ติดตาม และรายงานผลการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นให้เราได้รับทราบด้วยค่ะ



เคล็ดลับ 5 ข้อ ในการเลือกมาร์เก็ตติ้งคู่ใจ

  1.  เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่การตลาด และมีรายชื่อขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.

  2.  มีความรับผิดชอบต่อลูกค้าโดยมีความซื่อสัตย์ รู้และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และมีจรรยาบรรณในอาชีพของตนที่เกี่ยวข้อง  ดูแลประโยชน์ของลูกค้าเสมือนประโยชน์ของตนเอง

  3.  ดูแลลูกค้าในจำนวนที่เหมาะสมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

  4.  สามารถตอบคำถาม หรือวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างชัดเจน มีเหตุผล และน่าเชื่อถือ

  5.  ควรเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ไม่ใช่คนอ่อนแอ หรือลาป่วยบ่อย เพราะเราจะเสียอารมณ์


หวังว่าบทความนี้คงจะทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจในเรื่องโบรกเกอร์กันมากขึ้นแล้วนะคะ ไว้ครั้งหน้าจะเอาความรู้หรือข้อสงสัยยอดฮิตสำหรับนักลงทุนมาแชร์กันเรื่อย ๆ ค่ะ ^^


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น